ดังนั้นภูมิศาสตร์น่ารู้ฉบับนี้จึงขอเสนอเรื่องของ อ่าวไทยตามลักษณะทางกายภาพและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของอ่าวไทย อธิบายได้ว่า อ่าวไทยถูกแบ่งเป็นสองตอน คือ อ่าวไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนล่าง อ่าวไทยตอนบนเริ่มนับจากเส้นรุ้งที่ 12 องศา30 ลิปดาเหนือจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยามีรูปร่างคล้ายๆตัว "ก" มีความลึกเฉลี่ยประมาณ 15 เมตร เป็นที่รวมทางออกสู่ทะเลของแม่น้ำใหญ่ๆที่สำคัญ 4 สาย คือ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ส่วนอ่าวไทยตอนล่างนับจากเส้นรุ้งที่ 12 องศา 30 ลิปดาเหนือลงไปหาเส้นศูนย์สูตรจนถึงเส้นขวางระหว่างแหลมคาเมาประเทศเวียดนามกับปากแม่น้ำโกตาบารูทางตอนใต้สุดของจังหวัดนราธิวาส มีความลึกเฉลี่ย 45 เมตร นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมักจะเรียกอ่าวไทยว่า "อ่าวหิ้ง" เพราะว่าเป็นอ่าวปิดด้านหนึ่งและเปิดด้านหนึ่ง มีความลึกน้อยมาก จุดที่ลึกที่สุดอยู่ประมาณกลางอ่าวไทย และค่อยๆตื้นขึ้นตาม ความลาดชันของขอบฝั่งทะเล
เนื่องจากอ่าวไทยเป็นอ่าวตื้นจึงเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติหลายอย่างเช่นน้ำขึ้น - น้ำลง การขยอกตัวของมวลน้ำพายุ คลื่นลม และกระแสน้ำนอกจากนี้ยังมีการถ่ายเทมวลน้ำจากทะเลจีนตอนใต้มาหล่อเลี้ยงให้มีการหมุนเวียน ตามฤดูกาล คือเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมจะได้รับอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงเหนือผลักดันให้มวลน้ำจากทะเลจีนใต้ไหลเข้าสู่ อ่าวไทย แต่ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฏาคม ระดับน้ำในอ่าวไทยจะลดลงเพราะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดให้มวลน้ำในอ่าวไทยไหลออกสู่ทะเลจีนตอนใต้
การเกิดน้ำขึ้นน้ำลงในอ่าวไทยจะเกิดขึ้นทุกวันตามอิทธิพลของแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์อื่น แต่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากกว่า ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ใดๆจึงมีกำลังมากที่สุด โดยปรกติแล้วชาวประมงจะสังเกตเวลาของน้ำขึ้น -น้ำลงด้วยการดูดวงจันทร์ ถ้าเห็นดวงจันทร์โผล่ขอบฟ้าจะเรียกเวลาน้ำลง ถ้าเห็นดวงจันทร์อยู่ตรงศรีษะเมื่อใด ก็บอกได้ว่าเป็นเวลาน้ำขึ้น ตามปรกติจะเกิดน้ำขึ้น-น้ำลง วันละสองครั้งเสมอแต่บางตำบลของอ่าวไทยจะเกิดเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวันเนื่องจากอ่าวไทยเป็นอ่าวตื้น มีก้นอ่าวขรุขระไม่ราบเรียบการเดินทางของคลื่นน้ำขึ้น-น้ำลง จึงไม่สม่ำเสมอกัน เมื่อคลื่นน้ำขึ้นเดินทางเข้ามาในอ่าวแล้ว ก็จะสะท้อนกลับทำให้เกิดแรงหักล้างกันและเป็นผลให้มีน้ำขึ้นน้ำลงเหลือเพียงวันละหนึ่งครั้ง
ประเทศไทยนับว่าโชคดีมากที่มีธรรมชาติโอบอุ้มให้รอดพ้นจากคลื่นแรง-ลมจัด ไว้ได้เกือบทุกปี นอกจากบางปีที่มีพายุความกดอากาศต่ำ (ดีเปรสชั่น) หลุดรอดแหลมญวนเข้ามาได้ เกิดเป็นวาตภัยและอุทกภัยขึ้น ยังความเสียหายแก่พื้นที่ที่ไก้รับอิทธิพลเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น พ.ศ.2505 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและ 2513 ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นต้นเราจะเห็นได้ว่าจากข้อมูลต่างๆในข้างต้น อ่าวไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคนไทย เป็นแหล่งอาหาร ทรัพยากรทางทะเลแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงเป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญของโลก ทรัพยากรต่างๆในอ่าวไทยมีอยู่อย่างจำกัดและรักษาสมดุลย์ตามธรรมชาติ มนุษย์เป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปทำลายความสมดุลย์ของระบบ เราจะพบความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในปัจจุบันเทียบไม่ได้กับเมื่อ 30 ปี หรือ 20 ปี ปีที่ผ่านมา
หากคนไทยยังขาดจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรปล่อยให้มีการจับสัตว์น้ำแบบทำลายล้างโดยไม่มีการหยุดเพื่อให้สิ่งต่างๆได้มีโอกาสพื้นตัวยังคงปล่อยให้มีการทำลายปะการังธรรมชาติ,ป่าชายเลนและยังคงปล่อยของเสียและวัตถุอันตรายในอ่าวไทย ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะขาดแหล่งอาหารที่สำคัญไปโดยที่มิอาจจะแก้ไขให้กลับมาได้
นอกจากนี้จากนโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ส่งผลให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกเพื่อการอุตสาหกรรมขึ้นที่ภาคตะวันออกตัวอย่างเช่น การถมทะเลในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของของอ่าวไทยบริเวณจังหวัดระยองคือ ชายหาดกำลังถูกกัดเซาะทำลาย โดยเฉพาะบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปจนถึงโรงงานของกลุ่มบริษัทในครือ ทีพีไอ ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร
โดยขณะนี้ชายหาดบางส่วนได้ถูกกัดเซาะหายไปหมดแล้วหลือเพียงชื่อและคำบอกเล่าถึงหาดที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่และมีความสวยงาม สาเหตุมาจากโครงการถมทะเลของการถมทะเลนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและกลุ่มโรงงาน ทีพีไอ ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล หาดทรายถูกกัดเซาะ สร้างความเสียหายที่มิอาจประเมินค่าได้และยากที่จะแก้ไขให้เหมือนเดิม นอกจากนี้การถมทะเลยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของชาวบ้านโดยเฉพาะชาวประมงในพื้นที่ รวมถึงระบบนิเวศน์ในทะเล จากปัญหาสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ความขุ่นและตะกอนสารแขวนลอยอีกด้วย


แผนที่แสดงทิศทางของกระแสน้ำ แผนที่แสดงทิศทางของกระแสน้ำ
ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น